วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559



การวิจัยในชั้นเรียน : ความสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน




การวิจัยในชั้นเรียน : ความสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน

     การวิจัยในชั้นเรียนมีความสำคัญต่อวงการวิชาชีพครูเป็น อย่างยิ่ง เนื่องจากครูจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน การจูงใจให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียน การพัฒนาพฤติกรรมผู้เรียน การเพิ่มสัมฤทธิผลการเรียน และการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวิจัยในชั้นเรียนเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทดั้งเดิมของครูที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจเรื่องการสอนโดยเน้นเนื้อหาสาระของบทเรียน จึงทุ่มเทการศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูล ทฤษฎี ที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร มากกว่าการศึกษาวิธีการพัฒนาหรือปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้เรียน ผลงานของอาจารย์ส่วนใหญ่จึงเป็นผลงานหนังสือ ตำรา บทความหรือเอกสารทางวิชาการมากกว่าผลงานวิจัย
     ปัจจุบัน การวิจัยมีบทบาทเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวทางการศึกษา ที่เปิดระดับการศึกษาถึงขั้นปริญญาโทและปริญญาเอกในประเทศไทย ทำให้มีการเรียนการสอนระเบียบวิธีวิจัย ตลอดจนการกำหนดให้ทำวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษา จึงมีผู้รู้วิธีการทำวิจัยเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ หรือ การเลื่อนระดับของผู้อยู่ในสายวิชาชีพทางการศึกษา มีข้อกำหนดให้ส่งผลงานวิชาการและงานวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาจึงต้องหันมาสนใจเรื่องของการวิจัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่กฎหมายได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการวิจัยในมาตรา ๒๔ ดังนี้
     มาตรา ๒๔ การจัดกระบวนการเรียนรู้ ….(๕) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมสื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้ รวมทั้งความสามารถใช้การวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอน และแหล่งวิทยาการต่างๆด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้ครูอาจารย์ต้องเปลี่ยน บทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้วิจัยเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาการสอน การเรียนรู้ของผู้เรียน และการพัฒนาวิชาชีพครูเพิ่มขึ้น
ความหมายของการวิจัยในชั้นเรียน

การวิจัยในชั้นเรียน หมายถึงการวิจัยที่ทำในบริบทของชั้นเรียน และมุ่งนำผลการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนของตน เป็นการนำกระบวนการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาครูให้ไปสู่ความเป็นเลิศ และมีอิสระทางวิชาการ (ทิศนา แขมมณี 2540: 5)
การวิจัยในชั้นเรียน คือกระบวนการแสวงหาความรู้อันเป็นความจริงที่เชื่อถือได้ ในเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในบริบทของชั้นเรียน (สุวัฒนา สุวรรณเขตนิคม 2540: 3)
การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน เป็นการศึกษาค้นคว้าของครู ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ปฏิบัติงานในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหา (Problem Solving) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือพฤติกรรมนักเรียนและคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน (ประวิต เอราวรรณ์ 2542: 3)
การวิจัยในชั้นเรียน คือการวิจัยที่ทำโดยครูผู้สอนในห้องเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนและนำผลมาใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน เป็นการวิจัยที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว นำผลไปใช้ทันทีและสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของตนเอง ให้ทั้งตนเองและกลุ่มเพื่อนร่วมงาน (สุวิมล ว่องวานิช 2543: 163)
การวิจัยในชั้นเรียน คือกระบวนการแสวงหาความจริงด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ในเนื้อหาที่เกี่ยวกับ การจัดการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาความสามารถของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ (ประกอบ มณีโรจน์ 2544: 4)
จากที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า การวิจัยในชั้นเรียนเป็นการวิจัยที่ครูทำเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้อง เรียนของผู้เรียนบางคน บางกลุ่ม หรือทั้งหมด ซึ่งผลการวิจัยสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียน การสอน และพฤติกรรมของผู้เรียน โดยมีกระบวนการวางแผน ปฏิบัติตามแผน สังเกตผลที่เกิดขึ้น และการสะท้อนความคิด

ลักษณะสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียน 

ลักษณะของการวิจัยในชั้นเรียนมีจุดเด่นที่แตกต่างจากการวิจัยอื่นๆ ดังนี้
๑. ครูเป็นผู้วิจัยเอง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่วงการวิชาชีพครู
๒. ผลการวิจัยสามารถแก้ปัญหาผู้เรียนได้ทันเวลา และตรงจุด
๓. การวิจัยช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างทฤษฏีและการปฏิบัติ
๔. การเพิ่มศักยภาพการคิดสะท้อน(Reflective Thinking) ของครูต่อปัญหาที่เกิดในห้องเรียน
๕. การเพิ่มพลังความเป็นครูในวงการการศึกษา
๖. การเปิดโอกาสให้ครูก้าวหน้าทางวิชาการ
๗. การพัฒนา และทดสอบการแก้ปัญหาในชั้นเรียน
๘. การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเรื่องการเรียนการสอน และทางแก้ปัญหา
๙. การนำเสนอข้อค้นพบและการรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มครู
๑๐. การวิจัยและพัฒนาเป็นวงจร (Cycle) เพื่อทำให้ข้อค้นพบสมบูรณ์ขึ้น
โดยที่จุดมุ่งหมายของการวิจัยเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นการเขียนรายงานการวิจัยจึงขึ้นอยู่กับผู้วิจัยว่าจะนำผลวิจัยไปทำ อะไร แต่ลักษณะของการวิจัยต้องสอดคล้องตามที่ได้กล่าวแล้ว
ที่มา : https://etraining2012.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น